2021-03-10

เปิดแนวคิด “ชัยวัฒน์ นันทิรุจ” ภาระกิจดันองค์กร สู่ โกลบอล คัมปานี

By Praew

เทคโนโลยี ที่เข้ามาดิสรัปท์ ธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมา ได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัย “ความเสี่ยง”ขององค์กรธุรกิจแทบทุกขนาด

ดังนั้น “การปรับตัว” ในทุกระดับการทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่กำลังจะเติบโตไปสู่ โกบอล คัมปะนี นั้น จะต้องมองเกมธุรกิจในอนาคตให้ขาด และพร้อมเสมอเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ใหม่ๆที่รวดเร็ว  

ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด (EKA GLOBAL)  บลกเล่าแนวคิด การบริหารองค์กรในปัจจุบัน ที่ต่างเผชิญหน้ากับ  “ความเสี่ยง” รูปแบบที่แตกต่างออกไป แต่มีปัจจัยหลักร่วมกัน คือ การถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุด

“ด้วยหากเราไม่สามารถปรับตัวได้  เสี่ยงสูงมาก และมีโอกาส  ล่มสลายได้  ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่  เพราะทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก  โลกแคบลง เทคโนโลยีสื่อสารเข้ามามีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจเร็วขึ้น” ชัยวัฒน์ กล่าว

ดังนั้นการทำธุรกิจจะต้องคิดถึงความต้องการของคนเจนใหม่ๆ ด้วยธุรกิจถึงจะรอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนมั่นคง

“นวัตกรรม” นำตลาด ยืดอายุบรรจุภัณฑ์เก็บอาหาร

ชัยวัฒน์ เสริมว่า บริษัทได้นำแนวโน้มดังกล่าว ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้กับ รูปแบบการทำงานของ “EKA GLOBAL” ที่วางตำแหน่งเป็นผู้นำตลาดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร (Longevity Packaging)  ที่มีความโดดเด่นด้าน “นวัตกรรม” จากจุดแข็งสำคัญ คือ การวิจัยและพัฒนา (R&D)  ที่นำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ให้อยู่ได้นานขึ้น

ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของบริษัทสามารถใส่อาหารและ วางไว้นอกตู้เย็นนาน 2 ปี อนาคตเมื่อเราได้ลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะ ทำให้บรรจุภัณฑ์  Longevity Packaging  สามารถยืดอายุและเก็บอาหารได้นานขึ้นเป็น 3-5 ปี

ด้วย ชัยวัฒน์ มองว่าการลงทุนเรื่อง R&D เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นหนทางที่จะผลักดันให้บริษัทรับมือกับการถูกดิสรัปชั่นที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบได้  และจะสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

“ยังผลักดันให้  EKA GLOBALเป็น  Global Company  ได้อย่างแท้จริง นอกเหนือจากการที่บริษัทได้มีโรงงานในประเทศจีน อินเดียซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และศูนย์รวมด้านเทคโนโลยี”  ชัยวัฒน์ กล่าว

แผนปี2564 ทุ่ม R&D

ขณะที่แผนดำเนินงานในปี 2564 นั้น ชัยวัฒน์ บอกว่า บริษัทวางงบลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ประมาณ 1 -2 %  หรือประมาณ 10-20  ล้านบาท ของยอดขายรวม โดยในปี 2563 บริษัทมียอดขายรวม ทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท แต่การใช้งบลงทุนเพื่อ R&D  ก็จะขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละปีบริษัทจะมีการนำนวตกรรมหรือวิจัยอะไรใหม่ๆเข้ามา ด้วยบริษัท มองว่า  R&D  เป็นเรื่องจำเป็นของ บริษัทด้านนวตกรรม ซึ่งบริษัทในต่างประเทศบางแห่งลงทุนด้าน R&D ในระดับ  มี  2-3%   หรือ 7-8% ก็มี

และในปีนี้ บริษัทคาดว่าศูนย์  R&D  ที่ได้ลงทุนขยายเพิ่มขึ้นน่าจะดำเนินการสร้างแล้วเสร็จและสามารถเริ่มทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาได้

อุตฯแพคเกจจิงยืดอายุฯ โตทั่วโลกรับโควิด-19

สำหรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทุกปี จากปัจจัยผู้บริโภค ตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมถึงวิกฤตโควิด -19  ที่เกิดขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้เติบโตแบบก้าวกระโดด 

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามวิถี New normal ผู้บริโภคหันมา สั่งสินค้าทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ ซื้อสินค้าต่อครั้งในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ทำให้จากเดิมที่ซื้ออาหารครั้งละไม่กี่ชิ้นก็จะซื้อยกแพ็กทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและสัตว์เลี้ยง


ส่งผลให้ ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นตาม อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของ “เอกา โกลบอล” ก็สามารถตอบโจทย์การซื้อสินค้าในปริมาณที่มากเพราะวางโดยไม่ต้องแช่เย็นได้และสามารถอุ่นและทานได้ทันที ขณะที่ของแบบ แช่แข็งก็จะต้องแช่ตู้เย็น ซึ่งการซื้อในปริมาณที่มาก ๆตู้ เย็นจะไม่สามารถรองรับได้ 

ชัยวัฒน์ บอกอีกว่า โควิด-19 เป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อบริษัท ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ของบริษัทพุ่งสูงขึ้น จากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของประเทศที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามาก และลูกค้าของบริษัทในงวดปี 2563 ล้วนมีผลดำเนินงานที่มีกำไร  จากพติกรรม New normal ของผู้บริโภคที่ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศแต่ประเทศใหญ่ๆทั้งที่ จีน อินเดีย และอเมริกาก็คึกคักมากเช่นกัน

เพิ่มกำลังผลิตแพคเกจจิง รับความต้องการพุ่งยุคโควิด19

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้เตรียมงบประมาณราว 150 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากในปัจจุบันอีกประมาณ 35% เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่พุ่งสูงขึ้น โดยควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้าน R&D ที่จะเป็นส่วนประกอบทั้งหมดที่ทำให้ บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

จากในปี 2563 ที่ผ่านมาบริษัท พบว่าความต้องการใช้ Longevity Packaging และบรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้บริษัท มีผลประกอบการแตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท และทะลุเป้าหมายแผน 5 ปี ได้ก่อนกำหนดที่วางไว้ จากเดิมที่บริษัทวางไว้เมื่อปี 2562 ว่าจะมียอดขายระดับ 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2567

“ในปี 2563 โควิด19 ก็ทำให้ ยอดขายของบริษัทแตะ 1,000 ล้านบาทไปแล้ว เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 35% จากปี 2563 และภายในปี  2568 ยอดขายจะแตะที่ระดับ 2,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน” ชัยวัฒน์ กล่าว     

วางแผนโตพร้อมเอสเอ็มอี ดันเศรษฐกิจประเทศ

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า บริษัท พร้อมร่วมสนับสนุนให้ธุรกิจขบนาดกลาง เล็ก เข้าถึงได้ในการผลิตอาหารที่สามารถเก็บได้นานและมีความปลอดภัยยังสามารถช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลนในเรื่องของอาหารได้  และยังเป็นประเด็นเดียวกับที่องค์การสหประชาชนชาติเองก็สนับสนุน

โดยบริษัทจะสนับสนุนเอสเอ็มอี ช่วยลดต้นทุนในการผลิตและใช้แพ็กเกจจิงหรือบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร  รวมถึงสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น ถ้าหากอาหารที่ผลิตสามารถเก็บได้นาน  ด้วยมองว่าหาก SME ไทยสามารถผลิตและส่งออกอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ท้องถิ่น หรือ อาหารของคนไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ก็ถือว่าเป็นการส่งออกทางด้านวัฒนธรรมการกิน ของไทยให้เป็นที่รู้จักและสนใจของชาวโลก

หากมองระยะยาวจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในที่สุด นอกเหนือจากช่วยให้ SME มีต้นทุนที่ลดลง มีตลาดและมีรายได้เพียงพอ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้

สำหรับแผนการสนับสนุน SME ปีนี้ตั้งเป้าหมายจะจัดสัมมนาทั้ง 4 ภาค โดยจะผ่านมหาวิทยาลัยของแต่ละภาค เพื่อช่วยประสานและให้ความรู้กับ SME ในการ แพ็ก ซีล  เพื่อยืดอายุอาหารให้นานขึ้น   และการที่บริษัทได้เริ่มโครงการนี้เมื่อ ปี 2563 ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้ประกอบการ SME ที่เข้ามา กว่า 100 ราย แต่ด้วยศูนย์ R&D ยังเล็กจึงรองรับได้น้อย และเกิดโควิด19 ด้วย แต่เมื่อศูนย์ที่ขยายเสร็จก็จะรองรับได้เพิ่มขึ้น  ซึ่งในช่วงแรกที่ SME ยังไม่มีทุนบริษัทก็พร้อมที่จะช่วยเหลือทดสอบการจัดเก็บยืดอายุอาหารด้วยเครื่องมือที่มีจากบริษัทไปก่อนเมื่อทุกคนเรียนรู้และมีทุนก็สามารถที่จะลงทุนซื้อเครื่องได้

แนะภาครรัฐ ดูแลรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนได้จริง

นอกจากนี้ จากการเข้าไปรับรู้และสัมผัสกับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ว่า ในส่วนของภาครัฐ ควรเร่งมาตรการที่จะทำให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถปฏิบัติได้ผ่านธนาคารที่เป็นเครือข่ายของรัฐ ด้วยมาตรการเข้าถึงทุนที่เกิดขึ้นได้จริง

“ในเรื่องนี้ ประเทศญี่ปุ่นเข้าทำดีมากและจะเห็นว่า เมื่อ SME เขาเข้มแข็งก็สามารถสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งได้เพราะSME คือรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจ นั้นเอง” ชัยวัฒน์ กล่าว  

พร้อมทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 13,000-16,000 ล้านบาท ในปี 2568  อีกทั้ง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐมีนโยบายชัดเจนสนับสนุน พลังงานสะอาดเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องใน 3-5 ปีข้างหน้า