2022-06-08

“เกรซ กาญจน์เกล้า” ร้องดีอีเอส ถูกเพจสวมรอยลวงแฟนคลับ ลงทุนทิพย์หลายล้าน

By Abdul

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส รับเรื่องร้องเรียนจากนักแสดงชื่อดัง “เกรซ กาญจน์เกล้า” ถูกแอบอ้างชื่อเปิดเพจหลอกลวงแฟนคลับให้ร่วมลงทุนธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ทิพย์ ล่าสุดแจ้งเฟซบุ๊กเร่งปิดกั้นเพจปลอม และประสานงานตำรวจแกะรอยเส้นทางบัญชีโอนเงินมิจฉาชีพ กร้าวคดีนี้ผิดทั้งกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพ์ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และกฎหมาย PDPA

วันนี้ (8 มิ.ย. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (รอง ผบก.สอท.1) แถลงข่าวกรณี “เกรซ” กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า นักแสดงชื่อดัง เดินทางมายื่นเรื่องต่อ รมว.ดิจิทัลฯ พร้อมแจ้งความออนไลน์ กรณีถูกปลอมเฟซบุ๊ก พร้อมเรียกร้องปิดเพจปลอมทันที

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ นักแสดงชื่อดัง นางสาวกาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า (เกรซ กาญจน์เกล้า) เดินทางมาร้องเรียนกรณีถูกแอบอ้างชื่อและรูปภาพ ไปสร้างเพจ “เกรซ กาญจน์เกล้าFc!” และมีพฤติกรรมจ่ายเงินค่าโปรโมทโพสต์ (Boost Posts) กับเฟซบุ๊ก ให้มียอดคนจำนวนมากเห็นโพสต์ และหลอกลวงมาร่วมลงทุนทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์กับเกรซ มีผู้เสียหายจำนวนมาก ขณะที่ตัวนักแสดงก็ได้รับผลกระทบจากการเสียชื่อเสียงด้วย

โดยหลังรับทราบว่ามีมิจฉาชีพนำชื่อไปอ้างเปิดเพจ เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย. 65) เกรซ กาญจน์เกล้า โพสต์ชี้แจงแฟนคลับว่า “เนื่องด้วยเกรซได้รับทราบข้อมูลจาก พี่บุ๋ม ปนัดดา ว่ามีบุคคลแอบอ้างสร้างเพจ ‘เกรซ กาญจน์เกล้าFc!’ โดยนำเพจดังกล่าวไปบูสท์โพสต์หลอกให้ร่วมลงทุนหลายล้านบาท โดยอ้างว่าทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์กับเกรซ จนมีผู้เสียหายหลายรายนำเรื่องราวทั้งหมดมาแจ้งให้ทางทีมพี่บุ๋มทราบ ทั้งนี้ หลังทราบเรื่องเกรซไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงขอชี้แจงว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์นี้ รวมถึงจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุดค่ะ”

นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดได้ประสานกับทางเฟซบุ๊ก เพื่อทำการปิดกั้นเพจปลอมดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันเตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยพฤติกรรมของมิจฉาชีพดังกล่าว อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (2) และมาตรา 343 วรรคสอง กระทำความผิดฐานฉ้อโกง แสดงตนเป็นคนอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

มาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และมาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

รวมทั้งอาจเข้าข่ายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 27 (2) เผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความรับผิดทางแพ่ง มาตรา 77 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ เกรซ กาญจน์เกล้า ได้ดำเนินการแจ้งความออนไลน์แล้ว ผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเปิดให้มีการแจ้งความออนไลน์ในส่วนของคดีออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

โดย พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบก.สอท.1 กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนต้องเตรียมเพิ่มเติมไว้ล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแจ้งความผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ดังนี้

1. บัตรประจำตัว โดยในการลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูล ทั้งหมายเลขบัตรและหมายเลขหลังบัตรประชาชน เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน

2. ใส่ email ส่วนตัว เพราะหลังจากกรอกรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ระบบจะส่งรหัส OTP ผ่านทาง email เพื่อจะนำมากรอกในระบบ ใช้ยืนยันตัวตนผู้แจ้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการถัดไป

3. ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับคดี ทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาเท่าที่ทราบ ได้แก่ ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม ช่องทางติดต่ออื่นๆ เช่น Line, Facebook, Instagram, Twitter เป็นต้น รวมถึงรูปแบบคำโฆษณาของมิจฉาชีพ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีอื่นๆ ที่เคยแจ้งมาก่อน และจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบหาคนร้ายที่ทำในรูปแบบขบวนการ

“หลังจากได้รับข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล และส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความ จากนั้นจะเริ่มดำเนินกระบวนการสืบสวนในทันที โดยพนักงานสอบสวนจะทำการโทรนัดหมายผู้แจ้งหรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ อายัดบัญชี ทำการออกหมายเรียก และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทางคดีตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมทั้งจะรายงานความคืบหน้าคดีในระบบออนไลน์ ซึ่งผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา” พ.ต.อ.ทำนุรัฐ ระบุ

ขณะที่ เกรซ กาญจน์เกล้า กล่าวว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่เห็นโพสต์ชวนลงทุนจากเพจปลอมดังกล่าวที่มีการยิงแอด เมื่อผู้เสียหายทักเข้าไป แอดมินเพจจะให้ผู้เสียหายแอดไลน์ เพื่อคุยต่อทางไลน์ จากนั้นมิจฉาชีพจะพูดหว่านล้อมผู้เสียหายจนเกิดความโลภ ลักษณะการจูงใจผู้เสียหาย โดยการส่งลิงก์ https://triplerouys.cc/tg/login/index.html เป็นลิงก์เว็บของมิจฉาชีพที่สร้างขึ้นมาหน้าตาคล้ายๆ พวกแอปร้านค้าออนไลน์แพลตฟอร์มดัง

“มิจฉาชีพจะอ้างว่า เป็นการลงทุนซื้อสินค้าขายในเว็บ แล้วอ้างว่าเว็บนี้ระบบได้ผูกเชื่อมโยงกับลาซาด้า ช้อปปี้ ลงทุน 100 บาท เมื่อผู้เสียหายโอนเงิน 100 บาท ระบบจะเติมเครดิต 100 บาท ในเว็บ และให้ผู้เสียหายเข้าไปกดรับเลือกสินค้าลงตะกร้าเพื่อขาย กดรับสินค้าสัก 10 นาที ระบบจะแจ้งว่า สินค้าขายได้แล้ว มีผู้มากดซื้อไปแล้ว มีเงินเครดิตเข้าให้ผู้เสียหายในระบบ แต่ผู้เสียหายยังถอนเงินไม่ได้ แล้วมีการพูดจาโน้มน้าว จนผู้เสียหายหลงกลทยอยโอนเงินเข้าไปเป็นจำนวนมาก กว่าจะรู้ตัวก็โอนไปกันเยอะ”

พร้อมกันนี้ ได้แนะนำแฟนคลับที่ถูกหลอกลวงให้ไปแจ้งความ ซึ่งมีผู้เสียหายแต่ละรายโอนเงินไปหลักหมื่นถึงหลายแสนบาท