2021-12-02

สุชาติ รอเคาะเยียวยาคนกลางคืน แย้มจ่ายรายละ 5,000 ลูกจ้าง ม.33 อาจได้อีก

By Abdul

“สุชาติ” เตรียมเคาะพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) เยียวยาคนกลางคืน-อาชีพอิสระ คาดรายละ 5 พันบาท พร้อมชงโมเดลช่วยลูกจ้างในระบบ ม.33 อาจได้ 2 เด้งจากประกันสังคม–รัฐบาล

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการเยียวยานักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า เรื่องนี้ขอดูตัวเลขกับผู้ประกอบการก่อนในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ แต่เบื้องต้นมีตัวเลขในระบบอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่เป็นอาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 ซึ่งเดิมมีการเยียวยาไว้ที่ 5,000 บาท 29 จังหวัด ขณะนั้นมีอยู่ 2 หมื่นกว่าราย แต่หากรวมทั้งประเทศ คาดว่าไม่เกิน 1-2 แสนคน

นอกจากกลุ่มดังกล่าวแล้วยังรวมไปถึงกลุ่มคนขับรถรับส่งนักดนตรี เด็กเสิร์ฟ หรืออาชีพที่ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ และสมาคมฯ ยืนยันได้ และต้องดูอายุ หากเกิน 65 ปีจะไม่เข้าข่ายมาตรา 40 อาจจะประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ต้องรอดูตัวเลขจากสมาคมฯ ที่จะมาพบตนในเวลา 14.00 น. วันที่ 3 ธ.ค. ว่า ตัวเลขคนกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด ซึ่งการเสนอขอสภาพัฒน์ฯ ต้องมีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีปริมาณเท่าใด ซึ่งไม่สามารถพูดลอยๆ ได้ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมคาดว่าจะได้ข้อสรุป เนื่องจากตัวเลขของรัฐบาลกับของผู้ประกอบการต่างกันหลายเท่าตัว โดยในหลักการนายกรัฐมนตรีให้การเยียวยาอยู่แล้ว

ซึ่งตนมีธงในใจไว้ที่ 5,000 บาท เพราะเป็นเงินกู้ของรัฐบาลไม่ใช่เงินของกองทุนประกันสังคม แต่มีบางกรณีใช้เงินในเหตุสุดวิสัยในมาตรา 33 หรือ ร้อยละ 50 เข้าข่ายช่วยอีกทางหนึ่งในกลุ่มลูกจ้างในระบบ เช่น เด็กเสิร์ฟ เสมียน ซึ่งในส่วนนี้จดทะเบียนในประกันสังคม แต่เรื่องนี้เป็นเพียงหลักการของตนซึ่งยังไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุม แต่เราต้องมีโมเดลในใจ ดังนั้นหากเป็นลูกจ้างในมาตรา 33 ด้วยก็อาจจะได้รับการเยียวยา 2 ทาง คือ สำนักงานประกันสังคม และจากรัฐบาล

นอกจากนี้ นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรามีบรรทัดฐานการเยียวยา 5,000 บาทจากครั้งก่อน ซึ่งการเยียวยาสถานบริการบันเทิงส่วนใหญ่เป็นบริษัท เขาสามารถใช้สิทธิ์ SME ได้ ซึ่งให้หัวละ 3,000 บาทในลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ซึ่งเป็นโมเดลที่รัฐบาลสร้างไว้เพื่อการเยียวยาอยู่แล้ว ขณะที่ลูกจ้างในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ก็สามารถใช้คำสั่ง ศบค. เยียวยาเหตุสุดวิสัยได้

เตรียมแจง ศบศ. โวตัวเลขจ้างงานปี 64 สูงกว่า 6 แสนราย เผยภาคส่งออกเกือบ 100%

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเสนอเรื่องของกระทรวงแรงงานในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ในวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) ว่า ตนจะเสนอรายงานตัวเลขการจ้างงานและการว่างงาน จากตัวเลขในระบบประกันสังคมตามเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ที่ขณะนี้มีประมาณ 11 ล้านคน เพราะเป็นตัวเลขที่จะทำให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แนะนำให้ใช้เป็นตัวเลขอ้างอิง แทนการใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง เพราะตัวเลขจะไม่นิ่ง

หากสอบถามก็จะระบุกลับมาว่า ว่างงานทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ สวนทางกับกลุ่มธุรกิจส่งออก ที่จะบอกว่ายังต้องการแรงงานทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้เลขประจำตัว 13 หลัก ยังทำให้รู้ได้อีกว่าผู้ประกันตนที่ออกจากบริษัทหนึ่ง แล้วไปอยู่อีกบริษัทหนึ่งเมื่อไหร่ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแจ้งเข้าระบบประกันสังคม นอกจากนี้ จะรายงานให้ที่ประชุมทราบว่ามีธุรกิจประเภทใดและจังหวัดใด ที่การจ้างงานเริ่มฟื้นตัวบ้าง

นายสุชาติ กล่าวอีกด้วยว่า ตัวเลขการจ้างงานในปี 2564 พบว่าเป็นบวก มีจำนวนกว่า 6.8 แสนคน โดยเฉพาะการส่งออกจากโครงการ Factory Sandbox เป็นภาคธุรกิจที่แข็งแรง ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว กำลังฟื้นตัว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เก็บข้อมูลการจ้างงานในธุรกิจประเภทดังกล่าว ดังนั้นการสื่อสารตัวเลขที่แท้จริงนี้จะทำให้นักลงทุนเข้าใจ

ทั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า ธุรกิจประเภทต่างๆ ไม่ได้หายไปพร้อมกันหมด เพราะมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่ามีธุรกิจที่ฟื้นตัวกว่า 98% เช่น ส่วนค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าก็ฟื้นกว่า 80-90% ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและบริการ ฟื้นประมาณ 40%