2021-08-20

สิ้นแล้ว “พ่อครูบุญศรี รัตนัง” ศิลปินแห่งชาติ ดนตรีพื้นบ้านล้านนา สิริอายุ 68 ปี

By Abdul

พ่อครูบุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) เสียชีวิตแล้ว 

โดยเมื่อเวลา 01.46 น. (20 ส.ค.64) ทางเพจ พ่อครูบุญศรี รัตนัง ซึ่งโพสต์โดยแอดมินของเพจได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตลงของพ่อครูบุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นศิลปินพื้นบ้านล้านนาที่คร่ำหวอดในวงการดนตรีพื้นบ้านล้านนา และเป็นศิลปินนักร้องเพลงพื้นบ้านล้านนาที่โด่งดังที่สุดท่านหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดของการเสียชีวิตและการจัดงานศพ โดยระบุเพียงว่าพ่อครูได้เสียลงแล้ว แต่เนื่องจากเป็นช่วงของการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19  ดังนั้นรายละเอียดและกำหนดการในการจัดงาน จะแจ้งให้ทราบอีกที

ทั้งนี้ ได้มีศิลปินพื้นล้านล้านนาอย่าง ครูแอ๊ด ภานุทัต ได้โพสต์แสดงความเสียใจ รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหา และแฟนเพลงชาวล้านนา เข้ามาแสดงความเสียใจและแสดงความอาลัยกับการจากไปของพ่อครูบุญศรี รัตนัง

นายบุญศรี รัตนัง เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2496 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านป่าเหมือดวิทยาคาร ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ในขณะที่เรียนหนังสือได้มีโอกาสได้เรียนดนตรีพื้นเมือง คือ ซึง ขลุ่ย และสล้อ จากพ่อสิงห์คำ รัตนัง จึงเริ่มตั้งวงดนตรีพื้นเมือง โดยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน รับเล่นดนตรีตามงานทั่วไปในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2513 ได้รับการแนะนำจาก พ่อสม บุญเรือง ช่างปี่ประจำหมู่บ้าน ให้ไปเรียน เป่าปี่เพื่อเข้ากับการขับซอ เมื่อเข้ามาสู่วงการศิลปินพื้นบ้าน พ่อครูจันทร์ตา ต้นเงิน ซึ่งเป็นพ่อครูสอนการขับซอ ให้ไปเรียนขับซอกับท่าน เพื่อเป็นการสืบทอดการขับซอพื้นบ้านล้านนา ไม่ให้สูญหายไปจากลูกหลาน และดินแดนล้านนา เพราะในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีวัฒนธรรม แบบตะวันตกเข้ามามากขึ้น

พ.ศ. 2523 ได้คู่ซอที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงคือ นางบัวตอง เมืองพร้าว จึงนำประสบการณ์ และความรู้ที่มีทั้งหมดเกี่ยวกับดนตรีและศิลปวัฒนธรรมล้านนา สร้างสรรค์ผลงานของตนเองขึ้น เช่น การแต่งซอพื้นเมือง แต่งละคร แต่งคร่าว แต่งจ๊อย และที่สำคัญมากที่สุดคือ การแต่งเพลงคำเมือง เนื่องจากยุคนั้นเพลงที่ได้รับความนิยมในล้านนา

พ.ศ. 2525 ได้ออกแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งคำเมือง ซึ่งเป็นเพลงแนวใหม่ที่เกิดขึ้น ในวงการเพลงของล้านนาและถือว่าเป็นบุคคลแรกที่เริ่มต้นสร้างแนวเพลงแนวนี้ขึ้น เป็นผลงานที่แต่งเอง ร้องเอง และควบคุมดนตรีเองทั้งหมด โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า “ลุงอดผ่อบ่ได้ ” เพลงทั้งหมดในอัลบั้มเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึง จารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชิวิตของคนล้านนาได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากเช่น เพลงบ่าวเคิ้น เป็นเพลงที่นำเอาดนตรีพื้นบ้านทำนอง “ปั่นฝ้าย” มาผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล ได้อย่างลงตัว

พ.ศ. 2526 มี 3 อัลบั้ม คือ เมาตึงวัน , สามตอง และเบื่อผัวสามตอง ซึ่งในอัลบั้ม เมาตึงวัน ได้มีการนำเอาทำนองซอ “ล่องน่าน” มาประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีสากล และ แต่งออกมาเป็นเพลง น้ำตาเมียน้อยซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลแรกในล้านนาที่นำเอาเพลงซอทำนองล่องน่านนี้มาประยุกต์เป็นเพลงลูกทุ่งคำเมือง

พ.ศ. 2527 มีอัลบั้ม หนุ่มรถอีแต๋นครวญ และ คุณนายป่ามป้าม มีการแต่งเพลง แนวใหม่ขึ้น โดยนำเอาเพลงแหล่แบบภาคกลางมาปรับให้เข้ากับคำเมือง กลายเป็น เพลงแหล่ คำเมืองขึ้น โดยเพลงแรกที่แต่งขึ้นมาคือ เพลง แหล่หอยไห้ มีเนื้อหาสอดแทรกในเรื่องของ คำสอนในพุทธศาสนา และคติสอนใจ

ปัจจุบันมีผลงานเพลงที่แต่งขึ้นมาทั้งหมด ประมาณ 500 กว่าเพลง มีผลงานอัลบั้มซอพื้นบ้านมาแล้วกว่า 30 ชุด ผลงานซอบางเรื่องที่มีการนำมาบันทึกเสียงใหม่ และจัดทำในรูปแบบของซอสายการศึกษา เช่น ซอเรื่องดาววีไก่หน้อย สูมาครัวตาน และต๋ำฮายา ที่นำมาบันทึกรวมกันใน พ.ศ. 2543 โดยมีการจัดทำเป็นวีซีดี ซอคาราโอเกะ เพื่อการศึกษา ขึ้นเป็นครั้งแรกในล้านนา ผลงานการแต่งคร่าวมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน แต่ส่วนมากจะเป็นการแต่งให้ผู้อื่นและไม่ได้มีการเก็บต้นฉบับไว้

การสร้างสรรค์ผลงานประเภทอัลบั้มดนตรีพื้นเมืองประมาณ 10 กว่าชุด ชุดที่ ได้รับความนิยมคือ ชุด ดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ (2534) เพราะมีการนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนามาบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากลบางชนิด และมีการประยุกต์ให้มีจังหวะที่เร็วขึ้น ทำให้จากปกติที่ดนตรีพื้นเมืองมักจะมีจังหวะที่ช้าก็เปลี่ยนให้มีจังหวะที่เร็วขึ้น ฟังแล้วคึกครื้นมากขึ้น ปัจจุบันได้สร้างศูนย์สืบสานภูมิปัญญาล้านนาขึ้น โดยสร้างเป็นอาคารยกพื้นสูง หลังเล็กๆ ติดทุ่งนา ซึ่งใช้ทุนส่วนตัวเป็นหลักและมีทุนจากองค์กรต่างๆเข้ามาร่วมบ้าง เช่น อบต. และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการสอนดนตรีพื้นเมือง ซอพื้นเมือง จ๊อย คร่าว สอนการฟ้อนล้านนา สอนการทอผ้า และสอนในเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้านแบบล้านนาโบราณ