2021-11-17

#สมรสเท่าเทียม ยังต้องรอ! ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สมรสเฉพาะชายหญิง” ไม่ขัด รธน.

By Abdul

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (17 พ.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว โดยระบุว่า วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้

(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1148 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 30/2563)

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสอง (นางสาวพวงเพชร เหงคำ ที่ 1 และ นางเพิ่มศัพท์ แซ่อึ๊ง ที่ 2) ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 1056/2563 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (กรณีขอจดทะเบียนสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศ) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และ มาตรา 27 หรือไม่

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้ข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในส่วนนี้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัตไว้ว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้”

  • ชาวเน็ตลุ้น #สมรสเท่าเทียม ศาลจ่อลงมติแต่งงานแค่ชายหญิงขัด รธน. หรือไม่

ทั้งนี้ ที่มาของคดีดังกล่าวจุดประกายความหวังของการ #สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย เนื่องจากนางสาวพวงเพชร เหงคำ และนางเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง ซึ่งเป็นคู่รักที่มีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศหญิง ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้งคู่จึงแต่งตั้งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส

หากนายทะเบียนปฏิเสธก็ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือสามารถกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า กฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ดังที่รายงานไปแล้วเบื้องต้น