2022-11-29

ดราม่า วัดดังเชียงใหม่จุดพลุไฟบนองค์พระธาตุเจดีย์ หวั่นโบราณสถาน 700 ปี เสียหาย

By Abdul

กลายเป็นประเด็นดราม่าเมื่อมีการเผยคลิปวิดีโองานประเพณียี่เป็ง โดยคณะกรรมการวัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ จุดดอกไม้ไฟและพลุบนองค์พระธาตุฯ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หวั่นโบราณสถาน และองค์พระธาตุ อาจได้รับความเสียหาย

ต่อมา พระสมพร ฐิตฺโสภโณ พระลูกวัดเจดีย์เหลี่ยม ได้โพสต์ชี้แจงว่า “ขอบคุณทุก ๆ ความคิดเห็น มีคนดูเกือบ 2 หมื่นกว่าท่าน เป็นกรณีศึกษาเรื่องบอกไฟพุกับพระธาตุ บอกไฟพลุนั้นไม่ได้จุดบนพระธาตุ แต่จุดด้านหลังพระธาตุคนละที่กันไม่มีอะไรเสียหาย ช่างติดบอกไฟนั้นทำด้วยความระมัดระวัง เสียงที่ดังนั้นคือบอกไฟพลุที่ดังมาจากด้านหลังพระธาตุ ไม่ใช่บนพระธาตุ ขอบคุณทุก ๆ ความคิดเห็นนะครับ ที่ได้เป็นห่วงหลากหลายมุมมอง เคารพทุก ๆ ความคิดเห็น สาธุครับ”

ล่าสุด (28 พ.ย.65) สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ระบุว่า กรณีที่มีการเสนอคลิปวีดีโอการจัดงานประเพณียี่เป็ง(ลอยกระทง) ที่ผ่านมาโดยคณะกรรมการวัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการจุดดอกไม้ไฟและพลุบนองค์พระธาตุฯ และมีประชาชนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นในคลิปนี้และมีความห่วงใยในโบราณสถานองค์พระธาตุฯ เกรงจะได้รับความเสียหายจากเหตุดังกล่าว สำนักฯได้ไปสำรวจตรวจสอบสภาพองค์พระธาตุฯแล้ว พบว่ามีการนำดอกไม้ไฟประเภทแสง(ธารน้ำตก) และพลุนำแสงขนาดเล็ก แขวนและบังคับทิศทางด้วยลวด พันเกาะกับองค์พระธาตุฯ แล้วใช้สายชนวนเป็นตัวบังคับการจุด ส่วนพลุขนาดใหญ่ที่มีเสียงดังนั้น เป็นการตั้งกระบอกพลุบริเวณฐานพื้นด้านนอกกำแพงแก้ว ไม่ได้ติดตั้งหรือจุดชนวนบนองค์พระธาตุฯ

จากการตรวจสอบองค์พระธาตุฯ ไม่พบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจุดดอกไม้ไฟหรือพลุในครั้งนี้ พบเพียงคราบเขม่าที่ผิวปูนฉาบบนคราบเชื้อราดำบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ได้ถวายความรู้ คำแนะนำเบื้องต้นในความเหมาะสม การควรหรือไม่ควรกระทำสิ่งใดต่อโบราณสถานที่อยู่ในการครอบครองของวัด ตลอดจนวิธีบำรุงรักษา ดูแลรักษาโบราณสถานเบื้องต้น ให้กับท่านเจ้าอาวาสได้ทราบแล้ว หลังจากนี้ทางสำนักฯ จะมีหนังสือกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ที่มีโบราณสถานตั้งอยู่ ถึงเรื่องแนวทางในการดำเนินงานต่างๆที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมกับโบราณสถาน และในอนาคตสำนักฯ จะจัดอบรมถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการและฆราวาสผู้สนับสนุนวัด ในโอกาสต่อไป

วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 โดยพญามังราย มีจุดเด่นคือเจดีย์ทรงปราสาทจำนวน 5 ชั้น 20 องค์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์กู่กุดในวัดจามเทวี และ สุวรรณเจดีย์ในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์ในสมัยอาณาจักรหริภุญไชย