2021-07-25

“ก้าวไกล” ตั้งข้อสังเกตความผิดปกติการพิจารณางบฯ

By Abdul

ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตความผิดปกติการพิจารณางบประมาณ เรียกร้องพิจารณาอย่างเปิดเผยโปร่งใส

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ออกมาแถลงถึงผลความคืบหน้าและข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดปกติในการพิจารณางบประมาณที่ผ่านมา

โดยปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า การจัดสรรงบของรัฐบาลให้หน่วยงานราชการต่างๆมีความล้มเหลวและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ในวิกฤตที่ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบาก แต่ยังเห็นการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เช่น กระทรวงต่างประเทศ ของบจัดซื้อรถให้ทูต คันละ 3-4 ล้าน ถึง 14 คัน ของบซื้อชุดผ้าม่าน เครื่องอุ่นจาน และการปรับปรุงสนามเทนนิสให้กับสถานทูตในสเปน ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรม ยังคงของบเพื่อจัดงาน Fashion week ในกรุงเทพฯ ทั้งที่กำลังอยู่ในวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการกระทรวงต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฐานเสียงหรือพรรคพวกตัวเอง เช่น การจัดสรรวัคซีนให้จังหวัดบุรีรัมย์มากเป็นพิเศษ

โดยนายปกรณ์วุฒิ ยังเรียกร้องให้การพิจารณางบประมาณควรเป็นไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส มีการจัดทำเป็นรูปแบบไฟล์ spreadsheet หรือ Excel เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ในหลายมิติและสะดวกรวดเร็ว ควรต้องส่งล่วงหน้าและอัพโหลดไฟล์ดิจิทัลขึ้นเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดได้เป็นสาธารณะ รวมทั้ง การประชุมทั้งหมด ควรต้องมีการถ่ายทอดสดในช่องทางออนไลน์และบันทึกเก็บไว้ เพื่อให้ประชาชนได้จับตาพฤติกรรมต่างๆของหน่วยงานราชการและกรรมาธิการเอง เพราะในหลายครั้ง เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลต่างๆเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ว่า ผู้ที่กระทำรู้ว่าไม่มีใครจับตาดูอยู่ หากมีการถ่ายทอดสดออกไป เชื่อว่า พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง

ขณะที่นายจิรัฏฐ์ ในฐานะอนุกรรมาธิการงบประมาณได้ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า การพิจารณางบประมาณในชั้นอนุกรรมาธิการพบความไม่โปร่งใสหลายประการ และที่น่าเกลียดคือ มีการนำใบเสนอราคาที่จัดทำขึ้นมาใหม่เพื่อให้ กมธ. พิจารณา

ด้านนายสุรเชษฐ์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติและน่าเคลือบแคลงสงสัย ใน 4 ประเด็น ได้แก่ “การเข้าห้องเย็น” หรือ การเรียก “หัวหน้าหน่วยงาน” ไปเจรจากันนอกรอบ ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการชี้แจงในคณะอนุ กมธ. อาจเจรจากันในเรื่องการปรับลดงบประมาณ หรือพูดคุยกันตามประสาคนรู้จัก หรืออาจมีการเรียกรับผลประโยชน์อื่นใด ไม่มีใครทราบได้ เพราะเป็นการเจรจากันในทางลับ

“การขู่เชือดหนัก” คือ การที่มี อนุกมธ. บางท่านขู่ว่าจะตัด 20% บ้าง 50% บ้าง พอข้าราชการเจอแบบนี้ก็กลัว เปิดโอกาสให้มีการเรียกเคลียร์ที่อาจนำมาซึ่งการเจรจาต่อรองบางอย่างได้

“ของข้าใครอย่าแตะ” เป็นอีกพฤติกรรมที่หมายถึงการที่กรรมาธิการบางท่าน ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์งบประมาณของหน่วยงานมากอย่างผิดปกติ หลายกรณี แม้ตัวโครงการจะฟังดูดี แต่ยังมีบางรายการที่พอปรับลดได้ แต่หลายกรมกลับมี ส.ส. ที่เป็นอนุฯไปทำหน้าที่เหมือนองครักษ์มาปกป้องแบบของข้าใครอย่าแตะ ทั้งที่ความเป็นจริงต้องแตะได้หมด เพราะ ส.ส. มาทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่ได้มาตัดงบเพื่อเอามาแบ่งกัน

สุดท้าย คือ “การขอทอนคืน” หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลทำการบ้านมาอย่างดี เพื่อปรับลดเงินจนหน่วยงานเถียงไม่ออก เนื่องจากหลักฐานชัดเจนว่าปรับลดได้ และหน่วยงานก็ยอมปรับลดแล้ว แต่กลับมี กมธ. บางคน อยากเอาใจหน่วยงาน เสนอให้ไม่ต้องปรับลดเลยแล้วใช้เสียงข้างมากดันให้ผ่านไป

พฤติกรรมแบบนี้ทำให้มีข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะเป็นผู้แทนราษฎร ส.ส. ควรทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์งบประมาณและภาษีของประชาชน จึงอยากให้เป็นรัฐโปร่งใสมากขึ้น เพื่อเป็นทางออกในการตรวจสอบงบประมาณต่อไป