การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงขณะนี้ครบ 1 ปีช่วงที่หนักสุดคือการล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจระหว่างเมษายนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ผลกระทบทางตรงที่ตามมาคือเศรษฐกิจพังซึ่งไม่ใช่เป็นเฉพาะบ้านเราแต่เกิดกับหลายประเทศทั่วโลก สำหรับไทยพึ่งพาการค้า-บริการและเชื่อมโยงโซ่อุปทานกับเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เช่น การนำเข้า-ส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนทางตรงแม้แต่ตลาดหุ้นก็เกี่ยวข้องกับต่างชาติ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจทรุดตัวหนักสุดและการฟื้นตัวล่าช้ากว่าหลายชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติล่าสุดประเมินว่าเศรษฐกิจปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 6.1 และปีนี้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ภาคส่วนเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดคือท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติถึงจะมีวัคซีนแต่การเข้าถึงต้องใช้เวลาอย่างน้อยไตรมาส 3 ถึงจะมี “Vaccine passport” ที่หวังจะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคนเข้ามาใช้จ่ายเงินกว่า 2.1 ล้านล้านบาทคงไม่ได้เห็นในเร็ว ๆ นี้
ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงหรือทางอ้อมรวมถึงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องมีแรงงานมากกว่า 2.5 ล้านคนเป็นภาคส่วนที่น่าเห็นใจ ผมพึ่งกลับจากเชียงใหม่ไปพักโรงแรมและรีสอร์ทแทบจะร้างมีการจ้างคนออกที่เหลือทำงานไม่เต็มเวลาได้รับค่าจ้างครึ่งหนึ่งหรือบางแห่งร้อยละ 70 เพื่อความอยู่รอดบางคนต้องไปขายของหรือรับจ้างแรงงาน ถามคนขับรถตู้บอกว่าแทบไม่มีคนมาเที่ยวค้างค่าผ่อนรถขณะที่ภูเก็ตหรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ประสบปัญหาคล้าย ๆ กันโรงแรมมากกว่าร้อยละ 30 หยุดกิจการบางแห่งมีการประกาศขาย แม้แต่ภาคส่งออกถึงแม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่ร้อยละ 60 ก็ยังมี “Pain Point” จากการที่ปีที่แล้วตัวเลขส่งออกหดตัวที่อยู่ได้คือใครอึดกว่ากัน
ผลที่ตามมาคือการขาดสภาพคล่องทั้งนายจ้างและลูกจ้างครอบคลุมไปเกือบทุกธุรกิจยกเว้นรายใหญ่ ๆ ระดับเจ้าสัวหรือรัฐวิสาหกิจในรูปของบริษัทยังสามารถทำกำไรได้อื้อซ่า ข้อมูลจากสถาบันการเงินเฉพาะธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทมีหนี้เสียมากสุดส่วนใหญ่เข้าโครงการปรับโครงสร้างและยืดหนี้ เนื่องจากแบงค์ที่เป็นเจ้าหนี้ไม่ยอมปล่อยให้เป็น “NPL” เพราะจะต้องควักกระเป๋าไปวางเงินทุนสำรองให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าหนี้เสียประเภท “NPL แฝง” มีประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทและยังมีหนี้ที่เป็นสีส้มหรือสีแดงใกล้ ๆ 3.73 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและ SME ขึ้นอยู่ว่าจะประคองไปต่อไหวไหมแม้แต่สินเชื่อครัวเรือนก็อยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงกลุ่มที่น่ากังวลคือหนี้ผ่อนบ้าน-ผ่อนรถ
ด้านการจ้างงานถึงจุดต่ำสุดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วอัตราการว่างงานปัจจุบันประมาณร้อยละ 6.2 แต่ตัวเลขทางการอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้นิยามและวิธีสำรวจแบบไหน กลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานอยู่ในบริษัทหรือห้างร้านต่าง ๆ เป็นกลุ่มเสี่ยงมากสุดสะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตค้างผ่อนชำระสูงขึ้นร้อยละ 30 ที่ต้องติดตามว่าสัดส่วนที่สูงขึ้นเกี่ยวข้องกับการที่รัฐส่งเสริมให้คนออกไปใช้จ่ายและท่องเที่ยวหรือไม่ ปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนสามารถสะท้อนจากการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงถึง 50 : 50 ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระบุว่า 2 ใน 3 ของคำขอสินเชื่อจากแบงค์ถูกปฏิเสธ กระทบไปถึงโครงการใหญ่ ๆ โดยเฉพาะคอนโดที่ต้องสร้างเสร็จแล้วจึงขายได้ผลที่ตามมาหลายโครงการกลายเป็น “NPL”
- เรื่องคนกู้หนี้รถ กับคนรับเคราะห์จัดไฟแนนซ์
- รัสเซียโวยสหรัฐ-พันธมิตรดิสเครดิตวัคซีนสปุตนิก
ท่ามกลางปัญหาสภาพคล่องแต่ก็มีแสงสว่างปลายอุโมงค์จากการสำรวจของสมาคมค้าปลีกพบว่าดัชนีเชื่อมั่น “Retail sentiment index” เดือนกุมภาพันธ์สูงสุดในรอบ 6 เดือนแต่ยังต่ำกว่าช่วงปีที่แล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาในช่วงที่ธุรกิจและครัวเรือนช่วยตัวเองแทบไม่ได้ถึงแม้เม็ดเงินที่ใช้ไปประมาณ 2.46 แสนล้านบาทพอช่วยต่อลมหายใจให้ประคองตัวอยู่รอดได้ มาตรการเยียวยา เช่น จ่ายคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ, โครงการเราไม่ทิ้งกัน ฯลฯ มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในรูปของการใช้จ่ายต่อครั้งและความถี่ที่จับจ่ายใช้สอย (Spending & Frequency) ส่งผลให้ภาคค้าปลีกและบริการพอประคองเอาตัวรอดได้แต่ยังห่างไกลกับช่วงก่อนมีโควิด-19
กลับมาที่ปัญหาสภาพคล่อง ก่อนอื่นต้องเห็นภาพทั้งภาคธุรกิจและแรงงานในฐานะผู้บริโภคเหมือนปาท่องโก๋แยกกันไม่ออก เพราะหากนายจ้างหรือธุรกิจที่ทำงานหากขาดสภาพคล่องไปไม่รอดที่สุดก็จะกระทบแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการนั้น ๆ เช่น ถูกลดเงินเดือน ทำงานไม่เต็มเวลาหรือให้ออกจากงานที่หนักสุดคือปิดงาน เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโรงงานสิ่งทอในเขตอุตสาหกรรมบางพลีปิดตัวกะทันหันลอยแพคนงาน 1,300 คนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัวกรณีนี้คงเป็นแค่เพียงตัวอย่างจะมีการตามมาอีกหลายแห่ง ที่ผ่านมามาตรการเยียวยาเศรษฐกิจด้วยการใส่เม็ดเงินโดยตรงให้กับประชาชนและแรงงานอาจได้ผลในการเพิ่มการใช้จ่ายแต่อาจเป็นเพียงระยะสั้น ประเด็นคือรัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินได้นานเท่าใดจำเป็นที่จะต้องเยียวยานายจ้างให้อยู่รอดเพื่อรักษาการจ้างงานในระยะยาว
สภาพคล่องธุรกิจจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึง ไม่ใช่มีเงื่อนไขที่เกินกว่าเอสเอ็มอีที่อ่อนแอจะเข้าถึงแหล่งเงินเห็นได้จากพรก.เงินกู้ 5.0 แสนล้านบาทจนถึงขณะนี้ปล่อยได้จริง 130,384 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 26 แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขที่ทำให้เอสเอ็มอี ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ เช่น การปล่อยกู้ไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินกู้โดยใช้เกณฑ์ ณ สิ้นปีที่แล้ว ทำให้ธุรกิจที่ ไม่เคยกู้แบงค์ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ มาตรการเยียวยาไม่สามารถใช้ยาขนานเดียวแก้ได้ทุกโรคจำเป็นที่จะต้องแยกแยะประเภทธุรกิจและสถานะของผู้กู้ที่อยู่ในสถานะแตกต่างกัน
ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงรวมถึงการขาดเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจตลอดจน “NPL แฝง” การขาดทรัพย์สินถาวรที่ใช้เป็นหลักประกันรวมถึงแหล่งที่มาของรายได้มีความไม่ชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อดูเหมือนว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหาเหล่านี้มีความพยายามที่จะให้บสย.เข้ามาค้ำประกันแต่ก็ติดเงื่อนไขต่าง ๆ ขณะเดียวกันมีการผลักดันโกดังเก็บหนี้ “Asset Warehouse” แต่ดูจากโครงสร้างเหมือนให้ลูกหนี้ที่ไม่มีปัญญาผ่อนต้น-ดอกนำทรัพย์สินที่ค้ำประกันไปขายแบงค์หักกลบลบหนี้คงต้องเข้าไปดูเนื้อในว่าสามารถแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องได้หรือไม่ ประเด็นการแก้ปัญหาสภาพคล่องของไทยคือมีเงินพร้อมให้กู้ยังเหลืออีกเยอะ ดอกเบี้ยถูก คนเดือดร้อนต้องการกู้มีจำนวนมากแต่ทำไมจึงไม่สามารถปล่อยเงินได้ เกี่ยวข้องกับการจัดการจะปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ล้มหายตายจากไปก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวคงต้องเร่งทำ…งานนี้ช้าไม่ได้ครับ
( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )