2021-04-26

ธนาคารชั้นนำในจีนหลายแห่งเริ่มสนับสนุนเหรียญหยวนดิจิทัลของจีนแทน Alipay และ Wechat

By Natcha

ธนาคารชั้นนำของจีนกำลังส่งเสริมเงินหยวนดิจิทัลให้เข้ามาแทนที่ Alipay และ WeChat Pay สำหรับเทศกาลช้อปปิ้งที่กำลังจะมาถึงในประเทศจีน

รายงานจาก Reuters เมื่อวันที่ 26 เมษายน เปิดเผยว่าธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 6 แห่งของจีนกำลังส่งเสริมสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของจีนหรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ในเซี่ยงไฮ้ ก่อนเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ในวันที่ 5 พฤษภาคม

ธนาคารกำลังเรียกร้องให้ร้านค้าปลีกและผู้บริโภคดาวน์โหลดกระเป๋าเงินดิจิทัล และทำการชำระเงินโดยใช้ CBDC หรือ e-CNY วิธีนี้จะแทนที่วิธีการชำระเงินในปัจจุบันที่มีผู้ใช้หลายล้านคนอย่าง Alipay ของ Ant Group และ WeChat Pay ของ Tencent

จากรายงานได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารรายหนึ่งที่ได้ทดลองใช้ CBDC ในเซี่ยงไฮ้ภายใต้คำแนะนำของ ธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China) ได้อธิบายว่าสกุลเงินดิจิทัลนั้น เหนือกว่า Alipay และ WeChat Pay โดยกล่าวว่า

“ทุกคนจะรู้ว่าการชำระเงินด้วนเงินหยวนดิจิทัลสะดวกสบายมากเสียจนไม่ต้องพึ่งพา Alipay หรือ WeChat Pay อีกเลย”

นาย Mu Changchun หัวหน้าสถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิทัล PBoC กล่าวในงานเสวนาออนไลน์เมื่อปลายเดือนมีนาคมว่า Alipay และ WeChat Pay มีสัดส่วนของตลาดการชำระเงินผ่านมือถือ 98% ในประเทศจีน ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินในประเทศ

Changchun ได้กล่าวว่าธนาคารกลางไม่ได้ตั้งใจที่จะแข่งขันโดยตรงกับ Alipay และ WeChat Pay แต่ทำเป็นตัวสำรอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นกับทั้ง 2 บริษัท

อย่างไรก็ตามรัฐได้พยายามลดการครอบงำของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี และจำกัดพฤติกรรมผูกขาดตลาดในภาคอินเทอร์เน็ต ในช่วงต้นเดือนเมษายนรัฐบาลได้ปรับเงินบริษัทอาลีบาบาเป็นเงินมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ข้อหาผูกขาดตลาดตามรายงานจาก CNN

การเปิดตัวเงินหยวนดิจิทัลของจีน ทำให้รัฐบาลกลางสามารถควบคุมส่วนแบ่งข้อมูลทางการเงินจำนวนมหาศาล ที่ผู้ให้บริการชำระเงินชั้นนำของประเทศมีอยู่ได้

“ข้อมูลขนาดใหญ่คือความมั่งคั่ง ใครมีข้อมูลเยอะ คนนั้นก็รวยที่สุด” เจ้าหน้าที่ธนาคารอีกคนที่ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริม CBDC กล่าวกับ Reuters พร้อมเสริมอีกว่า “WeChat Pay และ Alipay เป็นมหาเศรษฐีในทะเลแห่งข้อมูลนี้”

นักวิชาการอย่าง Martin Chorzempa ได้ให้ความเห็นในระหว่างการประชุมฉันทามติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีนที่จะบังคับบริษัทรับชำระเงินชั้นนำของประเทศ ให้ส่งมอบข้อมูลของลูกค้าของตนที่รวบรวมไว้ และ CBDC อาจทำให้ธนาคารกลางสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้มากขึ้น และยังได้รับอำนาจคืนจากบริษัทเหล่านี้ด้วย” เขากล่าวเสริม

ธนาคาร 6 แห่งในโครงการนำร่อง CBDC ประกอบด้วย People’s Bank of China, The Industrial and Commercial Bank of China, Agricultural Bank of China, Bank of China, HSBC และ China Construction Bank

และเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จีนได้เสร็จสิ้นการนำร่องการใช้เงินหยวนดิจิทัลข้ามพรมแดนครั้งแรกกับฮ่องกง