2021-03-23

ก.ล.ต. ไทยพิจารณาเก็บเหรียญ Bitcoin และคริปโตที่อายัดมาได้ไว้ใน Wallet ของรัฐบาล

By Natcha

อ้างอิงจากรายงานของก.ล.ต.เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดประชุมร่วมกับ 14 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลของภาครัฐ (government wallet) สำหรับเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยึดหรืออายัดมาจากการกระทำความผิด โดยมีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุม และนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้าร่วมประชุม

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามาก มีการใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทนเงินตราที่ออกโดยภาครัฐ 

แต่ปัจจุบันกฎหมายบางส่วนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินจากผู้กระทำความผิด นั้นอาจยังไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและลักษณะการทำธุรกรรมในปัจจุบัน ทำให้มีช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่อาศัยคริปโทเคอร์เรนซี่ในการกระทำความผิด เช่น การฟอกเงิน และการซื้อขายยาเสพติด เป็นต้น 

ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาหารือกันเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอาจมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเพิ่มความคุ้มครองในผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยได้ยึด หรืออายัดสินทรัพย์ดิจิทัลมาจากการกระทำความผิดไว้ตามแนวทางของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น ก.ล.ต. ในฐานะ หน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล จึงได้เรียนเชิญนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุม และนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการยึด อายัด เก็บรักษา และการดำเนินการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว รวมทั้งเสนอให้มีการจัดทำมาตรฐานกลางเกี่ยวกับกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลของภาครัฐ (government wallet) ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ 14 หน่วยงานที่เข้าประชุมร่วมกับ ก.ล.ต. ประกอบด้วย (1) กระทรวงยุติธรรม (2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (3) ธนาคารแห่งประเทศไทย (4) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (5) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) (6) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (7) กรมศุลกากร (8) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (9) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) (10) สำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (11) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (12) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (13) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) (14) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

อายัดคริปโตอย่างไร ?

ย้อนกลับไปในปี 2019 นางสาวรื่นวดีได้หยิบยกผลวิจัยมาเปิดเผยว่า สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสามารถ “ยึดหรืออายัดได้” ถึงแม้ว่ามันจะถูกออกแบบมาให้ไม่มีระบบกลางสามารถเข้าไปอายัดได้แบบธนาคารก็ตาม

ในช่วงเวลานั้น นางสาวรื่นวดีกล่าวอธิบายว่า ขั้นตอนในการอายัดก็คือ เจ้าหน้าที่ต้องทำให้จำเลย “มอบรหัสส่วนตัวหรือรหัสลับ เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมนั้น” และโอนสินทรัพย์ดิจิทัลไปยัง Wallet ของกรมบังคับคดี จากนั้นนำไปขายในตลาดอีกรอบหนึ่งตามกฎหมาย แต่ส่วนวิธีการที่ทำให้จำเลยบอกรหัสนั้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำอย่างไร อาจจะเป็นการใช้ข้อกฎหมายบังคับหรือวิธีอื่น ๆ ก็เป็นได้

ดูเหมือนว่า หน่วยงานในไทยเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อคริปโตแต่อย่างใด เรียกได้ว่าในประเทศไทยนั้นมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายในวงการคริปโตเหนือกว่าประเทศรอบข้างเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าในปีนี้จะมีความคืบหน้าด้านกฎหมายเกี่ยวกับคริปโตมากขึ้นหรือไม่